หน่วยที่ 6 ชนิดข้อมูลในภาษาไพธอน

 ในภาษาไพธอนมีชนิดของข้อมูลอยู่หลายชนิดด้วยกัน โดยอาจแบ่งใหญ่ๆออกเป็น ๒ กลุ่มคือ ข้อมูลแบบเดี่ยว กับ ข้อมูลแบบกลุ่ม

ข้อมูลแบบเดี่ยวนั้นได้แก่ข้อมูลที่เป็นค่าตัวเลขต่างๆ ได้แก่ จำนวนเต็ม (int)จำนวนจริง (float) และจำนวนเชิงซ้อน (complex) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกชนิดหนึ่งซึ่งเก็บค่าความจริงเท็จทางตรรกศาสตร์ เรียกว่าบูล (bool)

ข้อมูลแบบกลุ่มนั้นได้แก่ข้อมูลที่เป็นสายอักขระ (str) และข้อมูลชนิดที่เป็นรายการของข้อมูลชนิดอื่นอีกที ได้แก่ ลิสต์ (list)ทูเพิล (tuple)ดิกชันนารี (dict)เซ็ต (set)เรนจ์ (range) เป็นต้น


ชนิดของข้อมูล
ตารางสรุปชนิดของข้อมูลหลักๆ

ชื่อย่อ ความหมาย ตัวอย่าง
int จำนวนเต็ม 12345
float จำนวนจริง 123.45
complex จำนวนเชิงซ้อน 123+45j
bool บูล True
str สายอักขระ '12345'
list ลิสต์ [1,2,3,4,5]
tuple ทูเพิล (1,2,3,4,5)
set เซ็ต {1,2,3,4,5}
dict ดิกชันนารี {'ก':1,'ข':2,'ค':3,'ง':4,'จ':5}
range เรนจ์ range(1,6)

 

จำนวนเต็ม int
คือข้อมูลที่เป็นตัวเลขที่ไม่มีจุดทศนิยม เช่น

1
300
32549


จำนวนเต็มในบางภาษาอาจมีจำนวนหลักได้จำกัด แต่ว่าในภาษาไพธอนสามารถมีจำนวนหลักได้ไม่จำกัด ขึ้นกับหน่วยความจำของเครื่อง

***ในไพธอน 2 มีจำนวนเต็มอยู่ ๒ ชนิด คือ int กับ long แต่ในไพธอน 3 จึงยุบลงมาเหลือชนิดเดียวคือ int

จำนวนจริง float
คือข้อมูลที่เป็นตัวเลขที่ประกอบด้วยจุดทศนิยม เช่น

129.3
6.61


ต่อให้ตัวเลขหลังจุดทศนิยมเป็น 0 ซึ่งในทางคณิตศาสตร์แล้วถือเป็นจำนวนเต็ม แต่หากเขียนจุดทศนิยมไปด้วยก็ถือเป็นข้อมูลชนิดจำนวนจริง เช่น

111.00000


จำนวนจริงในที่นี้เป็นจำนวนที่อยู่ในรูปทศนิยมแบบจุดลอย (floating point) หรือมักเรียกว่า float ซึ่งหมายถึงเลขทศนิยมที่อยู่ในรูปของจำนวนจริงตั้งแต่ 0 ถึงไม่เกิน 10 คูณด้วย 10 ยกกำลังเท่าไหร่ๆ 3.11×10^-8, 1.293×10^2

ข้อมูลชนิดนี้ปกติแล้วจะถูกเก็บในรูปของจำนวนที่ใช้ e เช่น

3.11e-8 # เท่ากับ 0.0000000311
1.293e2 # เท่ากับ 129.3


วิธีการเขียนแบบนี้ใช้บ่อย และสะดวกในกรณีที่เลขเป็นจำนวนใหญ่มากเป็นล้านหรือเล็กมากจนมี 0 หลังทศนิยมหลายตัว

บูล bool
ข้อมูลชนิดบูลคือข้อมูลที่มีค่าเป็นเพียง ๒ แบบ คือจริงกับเท็จเท่านั้น ซึ่งเขียนแทนด้วย

True
False


โดยให้ระวังว่าจำเป็นต้องขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เท่านั้น

ข้อมูลชนิดนี้แม้จะมีแค่ ๒ ค่าแต่มีความสำคัญมากเพราะเป็นตัวกำหนดตรรกะและเงื่อนไขการทำงานต่างๆภายใน โปรแกรม

 สายอักขระ str
คือข้อมูลที่เป็นตัวอักษรหลายๆตัวมาต่อเรียงกัน วิธีการเขียนสายอักขระจะต้องคร่อมด้วยเครื่องหมายคำพูด โดยจะใช้ขีดเดี่ยว ' หรือขีดคู่ " ก็ได้ เช่น

'คนที่ไม่ทำงานก็จะไม่มีกิน!!'
"ABCDEFGHIJK"

แม้ว่าจะเป็นตัวเลข แต่หากถูกคร่อมด้วยเครื่องหมายคำพูดก็จะถือว่าเป็นสายอักขระ เช่น

"111111111111111111111111111111"
'๑๒๙.๓'
 
 
  • ฮิต: 837